นี่คือถนนที่ทำจาก “ขยะพลาสติก” ที่ทนทานมากกว่าถนนยางมะตอย 60%

Spread the love

บริษัท MacRebur ในสกอตแลนด์ ได้คิดค้นวิธีรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ยากต่อการย่อยสลาย จนได้ไอเดียการทำ ถนนจากขยะ  โดยนำขยะพลาสติกมาสร้างเป็นถนนและทางหลวง เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แถมมันยังทนทานมากกว่าถนนยางมะตอยถึง 60 %

โดยถนนที่สร้างเสร็จแล้วนั้น มีสภาพที่ไม่ต่างกับถนนยางมะตอยทั่วไป ซึ่งในการสร้างถนนด้วยขยะพลาสติกแต่ละครั้ง จะใช้ขยะพลาสติกมากกว่า 1,000,000 ชิ้นขึ้นไป นับว่าเป็นเรื่องดีที่สามารถนำขยะมารีไซเคิลได้

ตามปกติส่วนผสมของการทำถนนลาดยางจะประกอบไปด้วย หินและทรายประมาณ 90% รวมกับน้ำมันดิบอีก 10% จึงเกิดเป็นยางมะตอยที่ใช้ลาดถนนทั่วไป แต่วิธีการของ MacRebur คือการนำเศษขยะพลาสติกมาหลอมรวมเป็นเม็ดเล็ก ๆ เพื่อให้เป็นวัตถุดิบหนึ่งในการผลิตยางมะตอย ก่อนจะนำไปอัดเข้ากับหินและทราย ทำให้ยางมะตอยสูตรนี้ สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันดิบลงได้เป็นอย่างมาก

MacRebur ยืนยันว่า ยางมะตอยจากเม็ดพลาสติกนี้ ทำให้ถนนทนทานต่อแรงกระเเทกมากกว่าเดิมถึง 60% และสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิมถึง 10 เท่า ที่สำคัญยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดหลุมบ่อได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน MacRebur ที่ตั้งอยู่ในเมืองล็อกเกอร์บี ประเทศสกอตแลนด์ กำลังคิดโปรเจ็คใหญ่ ในการปูถนนพลาสติกทั่วโลก ตั้งแต่ทางหลวงในอังกฤษไปจนถึงถนนในซานดิเอโก ซึ่งเป็นเส้นทางที่บริษัทกำลังเข้าไปเปิดโรงงานแห่งใหม่

“ผมเชื่อเช่นนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมากำหนดว่ามันมีไว้เพื่อฝังกลบหรือเพื่อเผา เพราะเราสามารถนำพลาสติกทั้งหมดนั้นมาใช้ได้และเราจะรีไซเคิลมันในถนนของเรา” แม็คคาร์ทนีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่าว

นอกจากนี้แม็คคาร์ทนีย์ยังเชื่อว่า “การใช้พลาสติกไปปูเป็นถนน” จะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายธรรมชาติบนโลกใบนี้ได้ และเขาคิดว่าสาเหตุที่คนจำนวนมากไม่คิดจะปูถนนด้วยพลาสติกเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่ามันมีทางเลือกแบบนี้อยู่

Robo Tip – ประเทศไทยที่มีประชากรเพียง 65 ล้านคนติดอันดับที่ 6 ของประเทศปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทร แซงหน้าประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่า 1,000 ล้านคนอย่างอินเดียเสียอีก โดยอินเดียอยู่ในอันดับ 12 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปล่อยขยะลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ทั้งที่สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีประชากรตามชายฝั่งทะเลหนาแน่น

อ่านต่อ – อเมริกาสร้างหุ่นยนต์คัดแยกขยะ เร็วกว่ามนุษย์ 2 เท่า แถมรู้ว่าขยะมาจากที่ไหน!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *