เนื้อแห่งอนาคต! นักวิทย์ฯเพาะเซลล์เนื้อเยื่อสัตว์ เพื่อทดแทนเนื้อแท้ๆ

Spread the love

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต รายงานว่า Bell Food Group บริษัทผลิตเนื้อรายใหญ่ของสวิส มีฐานการผลิตทั่วยุโรป ได้ลงทุนสูง 7.5 ล้านยูโร เพื่อผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์เนื้อเยื่อ ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองเพื่อทดแทนการใช้เนื้อจากปศุสัตว์

เนื้อแห่งอนาคตนี้เรียกว่า cultured meat หรือชื่ออื่นว่า clean meat, synthetic meat, in vitro meat ผลิตจากเซลล์ของสัตว์ภายนอกร่างกายสัตว์ โดยจะนำไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering) คล้ายกับเทคนิคที่ใช้ในทางเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (regenerative medicine) คิดค้นขึ้นโดย Mosa Meat บริษัทสตาร์ทอัพผู้ริเริ่มและผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตเนื้อจากเซลล์เพาะเลี้ยงอันดับต้นของโลก มีฐานการผลิตในเมือง Maastricht เนเธอร์แลนด์ ซึ่งบริษัทได้เปิดตัวแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อสัตว์จากเซลล์เพาะเลี้ยงไปแล้วเมื่อปี 2013 และเป็นที่สนใจในกลุ่มนักลงทุนและบริษัทผลิตเนื้อสัตว์อย่างมาก

การพัฒนานี้ สืบเนื่องมาจาก การเคลื่อนไหวของนักสิ่งแวดล้อม ที่เตือนว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคไม่เป็นมิตรโลก ตัวอย่างเช่น จีน ที่มีการทำปศุสัตว์เพื่อผลิตเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับโปรตีนจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเนื้อวัวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจำนวนมาก จนส่งผลต่อภาวะโลกร้อน

นาย Lorenz Wyss ประธานบริษัท Bell Food Group กล่าวว่า ‘ความต้องการเนื้อสัตว์กำลังลดลงเรื่อยๆ และในอนาคตเนื้อสัตว์จะไม่ใช่เนื้อที่มาจากการปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น พวกเราเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นทางเลือกที่แท้จริงของผู้บริโภคที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และพวกเรายินดีที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเนื้อสัตว์ที่เรามี ไปใช้ในความร่วมมือกับ Mosa Meat’

ซึ่งในแวดวงวิชาการยังมองว่า นวัตกรรมนี้ นอกจากจะสามารถพิชิตใจนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ในเรื่องการผลิตเนื้อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมแล้ว กระบวนการเพาะเลี้ยง ยังหลีกเลี่ยงประเด็นต่างๆ ที่การผลิตเนื้อแบบเดิมเจอมา เช่น การฆ่าสัตว์อย่าทารุณเพื่อนำมาเป็นอาหาร โรคที่เกี่ยวกับโภชนาการ อาการอาหารเป็นพิษ การใช้ทรัพยากร สายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ดื้อยาปฏิชีวนะ และก๊าซมีเทนที่ส่งผลให้เกิดโรคร้อน

ทั้งนี้ Mosa Meat มีแผนจะวางขายเนื้อดังกล่าวในตลาดทั่วโลก ภายในปี 2021 ในรูปแบบสินค้าพรีเมียม แต่จะเน้นตลาดเป้าหมายของ Bell Group คือสวิตเซอร์แลนด์

คุณกล้าทานเนื้อที่ถูกเพาะขึ้นในห้องทดลองหรือเปล่า?

ไม่ว่าคุณจะกล้าหรือไม่ แต่แนวคิดเรื่องการใช้อาหารที่สังเคราะห์ขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาเลี้ยงปากท้องชาวโลกกำลังใกล้ความจริงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเสี่ยงกับภาวะขาดแคลนอาหารจากประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีข้อมูลว่ามนุษย์เราใช้ทรัพยากรซึ่งปกติใช้ได้นาน 1 ปี หมดไปภายในเวลาเพียง 7 เดือน ขณะเดียวกันประชากรโลกก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 11,000 ล้านคนภายในช่วงสิ้นสุดศตวรรษนี้ ดังนั้นการผลิตอาหารให้ได้มากขึ้นจึงเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของเรา ส่งผลให้มีธุรกิจสตาร์ทอัพหลายรายหันมาผลิตเนื้อสังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “คลีนมีท” (clean meat) เพื่อหวังให้เป็นแหล่งอาหารแห่งอนาคตของมนุษย์

Robo Tip- วัวตัวหนึ่งตัวจะปล่อยมีเทน(ตด) ต่อปีออกมาออกมาสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าคนหนึ่งคนประมาณ 500 – 1,000 เท่า แต่เรามักจะละเลยไปว่าการผลิตอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องประชากรโลกก็เป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน กระบวนการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 30% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลก