สายตาออดอ้อนน่าเอ็นดูของสุนัข มีอะไรซ่อนอยู่กันแน่ ?

Spread the love

การคัดเลือกสายพันธุ์ สุนัข โดยมนุษย์ในเวลาหลายชั่วรุ่น ทำให้สุนัขบ้านมีวิวัฒนาการไปในทางที่สอดคล้องกับอุปนิสัยของคนเรา เช่นการมีกล้ามเนื้อพิเศษรอบดวงตา ช่วยให้สุนัขแสดงอารมณ์ความรู้สึกบนใบหน้าได้ชัดเจนมากขึ้น สามารถสื่อสารและทำสายตาออดอ้อนเพื่อให้มนุษย์หลงรักได้

ดร.จูลีแอน คามินสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธของสหราชอาณาจักร พบว่า สุนัขบ้านได้พัฒนากล้ามเนื้อพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งเรียกว่า LAOM ที่บริเวณส่วนบนของดวงตาใกล้กับสันจมูก โดยไม่พบกล้ามเนื้อดังกล่าวในสุนัขป่าซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกมัน

ทีมวิจัยของ ดร. คามินสกี ได้ทดลองบันทึกคลิปวีดิโอระหว่างที่คนแปลกหน้าและสุนัขในศูนย์พักพิงแห่งหนึ่งกำลังทักทายและหยอกล้อกัน เพื่อดูว่าปัจจัยทางการสื่อสารเรื่องใดจะส่งผลให้สุนัขถูกรับไปเลี้ยงมากที่สุด ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า การเคลื่อนไหวโหนกคิ้วของสุนัขมีอิทธิพลมาเป็นอันดับแรก ยิ่งมันขยับโหนกคิ้วมากครั้งขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสจะถูกรับไปเลี้ยงดูมากขึ้นเท่านั้น

ทีมงานได้ผ่าชันสูตรซากสุนัขบ้าน 6 ตัว เปรียบเทียบกับซากสุนัขป่าอีก 4 ตัว พบว่าสุนัขบ้านเกือบทุกสายพันธุ์มีที่มีกล้ามเนื้อพิเศษดังกล่าว ยกเว้นสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ หรือบางสายพันธุ์ที่มีสายเลือดใกล้ชิดกับสุนัขป่า

การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าทำให้สุนัขบ้านสามารถยก “โหนกคิ้วด้านใน” ขึ้น เพื่อให้ดวงตาดูโตขึ้นคล้ายกับเด็กทารก ทั้งยังมีสายตาที่แลดูเศร้าสร้อยน่าสงสาร   ทีมผู้วิจัยยังพบว่าสุนัขขยับโหนกคิ้วเช่นนี้บ่อยครั้งขึ้น เมื่อมีคนกำลังจ้องมองดูพวกมัน

ดร.คามินสกีกล่าวว่า “เวลาที่สุนัขส่งสายตาบ้องแบ๊วน่ารักน่าเอ็นดู มนุษย์จะถูกกระตุ้นให้มีความรู้สึกอยากดูแลปกป้องพวกมัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สุนัขตัวที่มีกล้ามเนื้อพิเศษเหนือดวงตาถูกเลือกไปเลี้ยงดูและเพาะพันธุ์ จนส่งต่อลักษณะดังกล่าวมาถึงสุนัขบ้านในทุกวันนี้ ”

Robo Tip – ในช่วงเวลาราว 3 หมื่นปีที่ผ่านมา สุนัขรู้จักใช้กล้ามเนื้อที่ดวงตาในการสื่อสาร หรือกระตุ้นให้เจ้าของให้อาหาร หรือเอาใจใส่พวกมัน หรืออย่างน้อยก็พาออกไปเล่นนอกบ้าน และเจ้าของทั้งหลายก็จะยอมตามน้องหมาไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านต่อ – ประชาธิปไตยในฝูงหมาป่า พวกมันใช้วิธี “จาม” เพื่อลงคะแนน