สมองมนุษย์มีกลไก “ลืมตาย” ทำให้เรามองว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว !

Spread the love

ทีมนักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัย บาร์อิลันของอิสราเอล เตรียมตีพิมพ์งานวิจัยข้างต้นลงในวารสาร NeuroImage ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019 โดยระบุว่า สมอง ของมนุษย์มีกลไก “ลืมตาย” ทำให้เรามองว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องของคนอื่น

สมองมีกลไกหลีกเลี่ยงความคิดเรื่อง’ความตาย’ เพื่อไม่ให้เราจมอยู่กับความกลัวตาย เพราะหากมีการนึกถึงความตายของตนเองเมื่อไหร่ สมองที่ทำหน้าที่ในการพยากรณ์ถึงอนาคตจะหยุดทำงานทันที

ดร. ยาอีร์ ดอร์-ไซเดอร์มาน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า การทำงานของสมองแบบนั้น เป็นกลไกสำคัญสำหรับการเอาตัวรอดของมนุษย์ แน่นอนอยู่แล้วว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ถ้าเรารู้สึกแย่ เราก็จะเจ็บป่วยและตายไวขึ้น

การศึกษาในครั้งนี้ ทำขึ้นกับผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่ง โดยการทดลองแรก ให้ผู้เข้าร่วมดูภาพของคนอื่น พร้อมกับข้อความที่สื่อถึงความตาย เช่น มรณะ สุสาน การพลัดพราก การไปไม่กลับ และโลกหน้า

กลุ่มทดลองได้ใส่เครื่องครอบหัวด้วยสัญญาณไฟฟ้าตลอดเวลาเพื่อตรวจจับคลื่นสมองแห่งการสูญเสีย ในการทดลองแรกนี้คลื่นสมองพวกเขามี คลื่นสมองแห่งการสูญเสียที่พุ่งสูงมาก

ส่วนในการทดลองที่ 2 ให้ผู้เข้าร่วมดูภาพของตัวเอง พร้อมกลับข้อความเช่นเดียวกันกับการทดลองแรก ปรากฏว่า คลื่นสมองแห่งการสูญเสีย กลับลดลงอย่างมาก ทั้งยังไม่มีสัญญาณแสดงความประหลาดใจส่งออกมาอีกด้วย

ผลการทดลองนี้ชี้ว่า สมองมีกลไกปกป้องเราจากความคิดเรื่อง “การตายของตัวเอง”

“แน่นอนว่าเราไม่อาจใช้เหตุผลมาปฏิเสธความตายได้ แต่สมองเลือกที่จะหยุดความคิดนั้น หรือทำให้มันกลายเป็นเรื่องของคนอื่นไปเสียได้ “  ดร. ดอร์-ไซเดอร์มานกล่าว

อย่างไรก็ตาม สมองของคนสมัยใหม่มีกลไกการกลัวตายที่มากขึ้น เนื่องจากเราไม่ได้คลุกคลีอยู่กับคนป่วยใกล้ตายเหมือนอย่างในอดีต ที่คนรุ่นก่อน ๆ จะนอนป่วยและตายอยู่ที่บ้าน แต่ปัจจุบันผู้ป่วยมักจะตายที่โรงพยาบาล

Robo Tip – บรอนนี แวร์ พยาบาลชาวออสเตรเลียได้รวบรวมคำตอบของผู้ป่วยใกล้ตายไว้ในหนังสือ “The Top Five Regrets of the Dying”  ความเสียดายอันดับที่ 1 คือ เสียดายที่ไม่ได้ทำตามใจปรารถนา พอใกล้วาระสุดท้าย จึงสำนึกว่า มีความฝันมากมายที่ยังไม่ได้ทำ มัวแต่ใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น จนไม่เป็นตัวของตัวเอง

อ่านต่อ – “ไพรม์อีดิติง” การตัดต่อพันธุกรรมแบบใหม่ ที่ขจัดยีนกลายพันธุ์ก่อโรคได้ 89%